ประวัติสมาคม
- ปี พ.ศ. 2560
เดือนมกราคม ประเทศไทยส่งทีมยุวชนทีมชาติไทย อายุระหว่าง 10-15 ปี เข้าร่วมการแข่งขันซูโม่ ฮะคูโฮ คัพ ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่มีเด็กยุวชนทั้งในประเทศญี่ปุ่นและนานาชาติเข้าร่วมกว่า 1,500 คน
เดือนเมษายน นักกีฬาหญิงทีมชาติไทย คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภททีม ในการแข่งขันซูโม่หญิงรายการ 5th International Women Sumo Invitation Championships
เดือนกรกฎาคม นักกีฬาทีมชาติไทย ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาต่อสู้โลก 2017 (World Games 2017) ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ประกอบด้วย นายจักรพงษ์ เชาวน์รุ่งเมธี นางสาวกมลชนก อำนวยพล และนางสาววิภารัตน์ วิทูธีรศานต์- ปี พ.ศ. 2559
เดือนเมษายน นางสาววิภารัตน์ วิทูธีรศานต์ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันซูโม่หญิงรายการ 4th International Women Sumo Invitation Championships ในรุ่นเฮฟวี่เวทหญิง (น้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม) และรุ่นไม่จำกัดน้ำหนัก ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงอีกครั้งของทีมซูโม่หญิงไทย
เดือนกรกฎาคม นักกีฬาหญิงทีมชาติไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 จากการแข่งขันซูโม่หญิงชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 12 และรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันซูโม่หญิงชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 7 โดยนางสาววิภารัตน์ วิทูธีรศานต์ ในรุ่นเฮฟวี่เวทหญิง(น้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม) นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากนางสาวกมลชนก อำนวยพล ในรุ่นมิดเดิ้ลเวทหญิง (น้ำหนักม่เกิน 80 กิโลกรัม) และนายจักรพงษ์ เชาวน์รุ่งเมธี ในรุ่นไลท์เวทชาย (น้ำหนักไม่เกิน 85 กิโลกรัม) จากการแข่งขันรายการซูโม่ชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 12 ณ เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย- ปี พ.ศ. 2555
การแข่งขันซูโม่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครบ 84 พรรษา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
- ปี พ.ศ. 2554
- จัดการแข่งขันเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ณ สนามฝึกซ้อม จังหวัดลพบุรี ซึ่งครั้งนี้มีการแบ่งรุ่นอายุนักกีฬาชายและหญิง และเป็นครั้งที่มีนักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 35 คน
- นางสาวจรัสพิมพ์ ศรีบุญเรือง นักกีฬาหญิงทีมชาติไทยในรุ่นไลท์เวทหญิง(น้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 ในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซูโม่หญิงชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ รุ่นไลท์เวทหญิงในการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียกำหนดน้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม ก่อนจะปรับตามรุ่นให้เป็นมาตรฐานเดียวกับการแข่งขันซูโม่หญิงชิงแชมป์โลกคือ รุ่นไลท์เวทหญิงน้ำหนักไม่เกิน 65 กิโลกรัม
- ปี พ.ศ. 2553
มีพิธีเคโกะ ฮะจิเมะ (KEIKO HAJIME) ซึ่งเป็นพิธีการทำโมจิ ในการเริ่มซ้อมซูโม่ครั้งแรกของปี มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมพิธีทั้งจากสถานทูตญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นในประเทศไทยและคนไทย
- ปี พ.ศ. 2552
มีการก่อตั้งสถานที่ฝึกซ้อมกีฬาซูโม่ขึ้นที่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 1 ปีเต็ม ซึ่งสนามดังกล่าวเป็นสนามซูโม่ที่เป็นสนามดินตามแบบฉบับของญี่ปุ่นแห่งเดียวในประเทศไทย ในวันที่ทำการเปิดสนามได้มีการจัดการแข่งขันเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งแรกขึ้นด้วย มีนักกีฬาให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้นกว่า 180
- ปี พ.ศ. 2548
ประเทศไทยได้รับรางวัลจากการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซูโม่ชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 13 โดยนายจักรพงษ์ เชาวน์รุ่งเมธี ได้รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในรุ่นไลท์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 85 กิโลกรัม) และนางสาวสกุณา เฉลิมทิพย์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันซูโม่หญิงชิงแชมป์โลก ในรุ่นมิดเดิ้ลเวทหญิง(น้ำหนักไม่เกิน 80 กิโลกรัม) ถือเป็นเหรียญระดับโลก 2 เหรียญแรกของนักซูโม่ทีมชาติไทย
- ปี พ.ศ. 2547
เกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้น ณ เกาะสุมาตรา ทางบริษัท AISIN SEIKI จึงได้จัดโชว์ซูโม่ การกุศลขึ้น โดยร่วมกับสมาคมซูโม่ในประเทศไทย ณ ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ประสพภัยในครั้งนั้น
- ปี พ.ศ. 2546
ประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซูโม่และซูโม่หญิงชิงแชมป์เอเชีย ในประเภทไลท์เวทหญิง(น้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม) โดยนางสาววิมล แสงเรือง และรุ่นไลท์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 85 กิโลกรัม) โดยนายจักรพงษ์ เชาวน์รุ่งเมธี ถือเป็นเหรียญทอง 2 เหรียญแรกของทีมซูโม่ไทย
- ปี พ.ศ. 2545
ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซูโม่ชิงแชมป์โลก ณ ประเทศโปแลนด์
- ปี พ.ศ. 2544
- มร.ซูมิโอะ คูราซาวา ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมซูโม่ในประเทศไทย แทน นายวิสุทธิ์ ประเสริฐสำราญ ซึ่งถึงแก่กรรมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543
- มีการจัดการแข่งขันซูโม่ชิงแชมป์เอเชียขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ อาคารนิมิบุตร สนามศุภชลาลัย กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจาก 9 ประเทศ การแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งแรกของรายการแข่งขันระดับเอเชียที่สหพันธ์ซูโม่ นานาชาติไม่ได้จัดการแข่งขันในประเทศญี่ปุ่น และครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติ จากคิตาโนะ ฟูจิ ซึ่งเป็นอดีตโยโกสึนะ*มาร่วมการจัดการแข่งขันอีกด้วย *โยโกสึนะ คือตำแหน่งสูงสุดของนักซูโมอาชีพ
- ปี พ.ศ. 2543
เดือนกรกฎาคม ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเข้าร่วมฝึกซ้อมกับทีมนักกีฬาซูโม่ ของประเทศญี่ปุ่น ณ เมืองชิซึโอกะ ก่อนการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซูโม่ชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งผลการแข่งขันรายการดังกล่าว ทีมชาติไทยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1ในรุ่นไลท์เวท (น้ำหนักไม่เกิน 85 กิโลกรัม) โดยนายจักรพงษ์ เชาวน์รุ่งเมธี
- ปี พ.ศ. 2542
การแข่งขันซูโม่ชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 8 ณ สหพันธรัฐเยอรมนี ในครั้งนั้นประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 7 คน (เป็นนักกีฬาชาย 4 คน หญิง 3 คน) ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สหพันธ์ซูโม่นานาชาติไม่ได้จัดการแข่งขันซูโม่ระดับนานาชาติในประเทศญี่ปุ่น
- ปี พ.ศ. 2541
มีการจัดการแข่งขันซูโม่ในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งแรก 34 คน (เป็นนักกีฬาหญิง 2 คน)
- ปี พ.ศ. 2540
ครั้งแรกของนักกีฬาซูโม่ทีมชาติไทย ที่ได้รับเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาซูโม่ชิงแชมป์เอเชีย นับเป็นเหรียญรางวัลเหรียญแรกของทีมไทยในการแข่งขันระดันานาชาติ
- ปี พ.ศ. 2537
มร.ซูมิโอะ คูราซาวา ได้พบกับนายกสหพันธ์ซูโม่นานาชาติ มร. ฮิเดโตชิ ทานากะ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอให้ทางสหพันธ์ฯสนับสนุนสนามฝึกซ้อมและอุปกรณ์ในการวางรากฐานกีฬาซูโม่ในประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้น 10 เดือน ทาสหพันธ์ได้ส่งสนามฝึกกีฬาซูโม่และผ้ามาวาชิมาให้ประเทศไทยเป็นครั้งแรก
- ปี พ.ศ. 2536
มร.ซูมิโอะ คูราซาวา ได้รับการติดต่อจากสมาคมซูโม่ในประเทศไทยในขณะนั้นโดย การแนะนำจาก มร. ชิโนมูระ คัทซึฮิโกะ ซึ่งเป็นคณะกรรมการซูโม่ของญี่ปุ่น เนื่องจากนายวิสุทธิ์เห็นว่าผลการแข่งขันซูโม่ในครั้งแรกนั้นนักกีฬาของทีมไทยขาดความรู้ ความเข้าใจในกีฬาซูโม่จึงแพ้การแข่งขัน จึงหวังให้มร.ซูมิโอะ คูราซาวาซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาซูโม่ มาถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคต่างๆเพื่อพัฒนาทีมชาติไทยและส่งเสริมกีฬาซูโม่อย่างจริงจัง
- ปี พ.ศ. 2535
ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาซูโม่ชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 1 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยการรวบรวมนักกีฬายูโดและมวยปล้ำในประเทศไทย ภายใต้การนำทีมของนายวิสุทธิ์ ประเสริฐสำราญ ซึ่งต่อมาเป็นผู้ร่วมจัดตั้งสมาคมซูโม่ในประเทศไทยขึ้น